ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันสร้างลานเจดีย์และองค์พญานาคทางเข้าพระเจดียศรีทศพลบรมไตรโลกนาถ ณ วัดน้ำเขียว (บุญช่วยสามัคคีธรรม) ต.กองทูล อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อถวายเป็นไตรรัตนบูชา

ประวัตินางกวัก (เทพปกรณัม)ตามความเชื่อไทยโบราณและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา



นางกวักเป็นเทพีแห่งขวัญหรือจิตวิญญาณในตำนานไทยโบราณ มีแห่งกำเนิดมาจากความเชื่อท้องถิ่นของชนชาติไทยแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะมีศาสนาฮินดูเข้ามาผสมจนกลายเป็นตำนานอีกเรื่องไป ความเชื่อในเรื่องนางกวักปรากฏอยู่ในความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมของชนกลุ่มไท-กะไดเป็นเสมือนผีที่คอยเรียกเงินเรียกทองและอารักษ์ร้านค้าที่รูปเคารพนางกวักได้ไปตั้งอยู่
เมื่อคนไทยได้รับวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวฮินดูเข้ามาจึงทำให้คนไทยมีการลากทับของวัฒนธรรม นำมาสู่ตำนานของนางกวักอีกตำนานหนึ่ง

นางกวักชื่อจริงว่า สุภาวดี บิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ มารดาชื่อ สุมณฑา เกิดที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ (อยู่ห่างไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี) มีครอบครัวประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ ได้ขยายกิจการซื้อเกวียนมา 1 เล่ม นำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น บางครั้งบุตรสาวขออนุญาตเดินทางไปด้วย เพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ระหว่างการค้าขาย
สุภาวดีได้มีโอกาสพบกับ "พระกัสสปเถระ" เป็นอริยสงฆ์แสดงธรรม หลังจากสุภาวดีฟังธรรมเทศนาอย่างตั้งใจแล้ว พระกัสสปเถระเจ้าได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว โดยได้ตั้งกุศลจิตประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่สุภาวดีมีโอกาสไปฟังจนจบอำลากลับ ต่อมา สุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาไปทำการค้า และมีโอกาสฟังธรรมพระอริยสงฆ์อีกท่านหนึ่ง นามว่า "พระสิวลีเถระเจ้า" สุภาวดีได้ฟังธรรมอย่างตั้งใจ สุภาวดีจึงมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ เป็นอันมาก พระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น คือ ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 7 ปี 7 เดือน จึงคลอดออกมา พร้อมด้วยวาสนา บารมี ที่ติดกับวิญญาณธาตุของท่าน ท่านจึงเป็นผู้มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอด เมื่อถึงคราวจำเป็นและต้องการ ทุกครั้งที่สุภาวดีได้ฟังธรรมและลากลับ พระสิวลีเถระเจ้าได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว เช่นเดียวกัน จิตของสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ส่งผลให้บิดาทำการค้าได้กำไรไม่เคยขาดทุน
นางได้รับพรว่า "ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆสมความปรารถนาเถิด"
บิดารู้ว่าสุภาวดีคือผู้ที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง เป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัว ครอบครัวร่ำรวยขึ้นเป็นมหาเศรษฐีมีเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบได้กับธนัญชัยเศรษฐี บิดาของวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของสุภาวดีได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ชาวบ้านจึงปั้นรูปแม่นางสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง และความเชื่อดังกล่าวนี้ ก็แพร่หลายเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ จากการเผยแพร่ของพราหมณ์ และยังคงเป็นความเชื่อที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้