ประเภทของกัปในฎีกามาเลยยสูตร
ฎีกามาเลยยสูตรแบ่งกัปไว้ 4 แบบคือ
1.
อายุกัป คือ กำหนดอายุสัตว์
เกิดมามีอายุเท่าไร เมื่ออายุสิ้นสุดลง เรียก 1 กัป (ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี)
2.
อันตรกัป คือ กำหนดอายุมนุษย์
ระยะเวลาที่อายุขัยของมนุษย์ ลงจากอสงไขยปีจนถึง 10 ปี แล้วขึ้นจาก 10
ปี จนถึงอสงไขยปี (อสงไขยเท่ากับเลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์ 140 ตัว)
3.
อสงไขยกัป = 64 อันตรกัป
4.
มหากัป = 4 อสงไขยกัป = 256
อันตรกัป
กัปในความหมายของอายุของจักรวาล
วิธีนับกัป
วิธีนับกัป
กำหนดกาลว่านานกัปหนึ่งนั้น พึงรู้ด้วยอุปมาประมาณว่า โลกธาตุ (จักรวาล)
อุบัติขึ้นมา จนกระทั่งโลกธาตุนั้นดับไป
ช่วงเวลาในกัป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับช่วงเวลาในกัปไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (มหา) กัปหนึ่งมี 4
อสงไขย (กัป) 4 อสงไขย (กัป) เป็นไฉน?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด กัปเสื่อม.
ตลอดกาลนั้นไม่ง่ายเพื่อจะนับ.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด สังวัฏฏกัปตั้งอยู่
ฯลฯ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด กัปเจริญ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด
วิวัฏฏกัป ตั้งอยู่. ตลอดกาลนั้น ไม่ง่ายนักที่จะนับ
—
พระโคตมพุทธเจ้า
สรุปใจความก็คือ
กัปนึงแบ่งเป็น 4 ช่วง แต่ละช่วงยาวนานมากยากจะนับได้ (อสงไขยในที่นี้หมายถึง
มากมาย หรือ นับไม่ถ้วน (infinity)
ไม่ได้ใช้ในแง่ของการบอกปริมาณว่าเท่ากับ 10140)
การแบ่งกัปตามจำนวนการอุบัติของพระพุทธเจ้า
แบ่งออกเป็น
2 ประเภทหลัก ๆ คือ
สุญญกัป คือ
กัปที่ปราศจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ[3]
อสุญญกัป คือ กัปที่ไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ แบ่งเป็น 5 ประเภทย่อยคือ
สารกัป คือกัปที่เป็นแก่นสาร
มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 1 พระองค์
มัณฑกัป คือ กัปที่ผ่องใส
มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 2 พระองค์
วรกัป คือ กัปที่ประเสริฐ
มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 3 พระองค์
สารมัณฑกัป
คือกัปที่เป็นแก่นสารและผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์
ภัทรกัป คือกัปที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้
5 พระองค์. กัปปัจจุบันเป็นภัทรกัปมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ได้แก่
พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า
และว่าที่พระเมตไตรยพุทธเจ้า รวมเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์
การประมาณความยาวนานของกัป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสประมาณเกี่ยวกับความยาวนานของกัปไว้ดังนี้
1.
ปัพพตสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๓๑๔ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรภิกษุ! กัปหนึ่งนั้น
เป็นเวลายาวนานนักหนา จะนับเป็นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี
เท่านี้แสนปี ดังนี้ไม่ได้เลย
ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง
เหมือนอย่างว่า ภูเขาศิลาลูกใหญ่ ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง
ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งนำเราผ้าขาวบางเยื่อไม้มาแต่แคว้นกาสี
แล้วเอาผ้านั้นปัดถูภูเขา ๑๐๐ ปีต่อครั้งหนึ่งดังนี้ การที่ภูเขาศิลาใหญ่นั้น
จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้นยังเร็วกว่า
แต่เวลาที่เรียกว่า กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย กัปหนึ่งนั้น
นานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่นานอย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร
มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐
กัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุใด? เพราะว่า วัฏสงสารนี้
กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้
ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเขาไว้
ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย
2.
สาสปสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๑๓ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)
ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง
เหมือนอย่างว่า พระนครที่ทำด้วยเหล็ก มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์
ซึ่งเป็นพระนครที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน
ยังมีบุรุษผู้หนึ่งพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ๆ ออกจากพระนครนั้น
โดยกาลล่วงไป ๑๐๐ ปี ต่อเมล็ดหนึ่ง การที่เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น
จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้นยังเร็วกว่า
แต่เวลาที่เรียกว่า กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย กัปหนึ่งนั้น
นานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่นานอย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร
มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐
กัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุใด? เพราะว่า วัฏสงสารนี้
กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้
ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเขาไว้
ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย
จำนวนกัปที่ผ่านมาแล้ว
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าที่ผ่านมาในอดีตมีกัปที่ล่วงไปแล้วมากมายนับไม่ถ้วนดังนี้
1.
สาวกสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๓ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)
อีกคราวหนึ่ง
ได้มีพระภิกษุหลายรูปด้วยกัน ได้พากัน เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า
และกราบทูลถามเรื่องกัปที่ล่วงไปแล้วว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!
บรรดากัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีมากเท่าใดหนอ พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้า
ตรัสตอบว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย!
เราตถาคตจะยกอุปมาให้พวกเธอฟัง ยังมีพระพุทธสาวก ๔ รูปในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีอายุยืน
๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี หากว่าพระสาวกทั้ง ๔ รูปเหล่านั้น สามารถระลึก
ถอยหลังไปได้วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป และกัปที่พระสาวกเหล่านั้นระลึกไม่ถึงพึงยังมีอยู่อีก พระสาวก ๔
รูปของเราผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐
ปีเสียก่อน โดยแท้เลย กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีจำนวนมากมาย อย่างนี้แหละ
ฉะนั้น จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ง่าย ในการที่จะนับจำนวนกัปว่า เท่านี้ร้อยกัป
เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤๅ? เพราะว่า
วัฏสงสาร กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น
ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น
ย่อมไม่ปรากฏเลย
2.
คงคาสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๕ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)
กาลต่อมาอีกคราวหนึ่ง
ขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เข้าไปเฝ้าและกราบทูลถามปัญหาเรื่องกัปที่ผ่านไปแล้ว
อีกเช่นกัน แลในวันนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ ได้มีพระพุทธฎีกาตอบแก่เขาว่า
"ดูกรพราหมณ์! เราตถาคตจะยกอุปมาให้ท่านฟัง เหมือนอย่างว่า แม่น้ำคงคานี้
ย่อมเกิดแต่ที่ใด และย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระยะนี้
ย่อมไม่เป็นของไม่ง่ายนัก ที่จะกำหนดนับได้ เท่านี้เม็ด เท่านี้ร้อยเม็ด
เท่านี้พันเม็ด เท่านี้แสนเม็ด ดูกรพราหมณ์! กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว
มากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น จึงมิใช่เป็นการง่ายนัก ที่จะกำหนดนับกัปเหล่านั้นว่า
เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป
ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤๅ? เพราะว่า
วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น
ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปมาอยู่
โดยที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย
ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนั้น ได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ
ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน พอทีเดียวเพื่อจะคลายความกำหนัด
พอทีเดียวเพื่อจะหลุดพ้นได้ ใช่ไหมเล่า