ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันสร้างลานเจดีย์และองค์พญานาคทางเข้าพระเจดียศรีทศพลบรมไตรโลกนาถ ณ วัดน้ำเขียว (บุญช่วยสามัคคีธรรม) ต.กองทูล อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อถวายเป็นไตรรัตนบูชา

ท้าวสักกะ



สักกะ (บาลี: สกฺก) หรือ ศักระ (สันสกฤต: शक्र ศกฺร; ความหมาย: ผู้องอาจ ผู้สามารถ) เป็นชื่อของเทพผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในจักรวาลวิทยาของศาสนาพุทธ ปรากฏนามในภาษาบาลีว่า สกฺโก เทวานํ อินฺโท (สันสกฤต: शक्रो देवानं इन्द्रः ศกฺโร เทวานํ อินฺทฺรห์) หมายถึง "สักกะผู้เป็นใหญ่เหนือทวยเทพทั้งหลาย"[1] ในคัมภีร์ทางศาสนาพุทธ คำว่าสักกะถือว่าเป็นวิสามานยนาม (นามชี้เฉพาะ) ไม่อาจใช้เป็นชื่อแทนตัวของเทพองค์อื่นได้ ในทางตรงกันข้าม คำว่า อินฺท (ภาษาบาลี) หรือ อินฺทฺร (ภาษา
สันสกฤต) ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เป็นใหญ่" (ไทยรับมาใช้ในรูปคำว่า พระอินทร์) จะถูกใช้เป็นคำเรียกแทนตัวท้าวสักกะอยู่บ่อยครั้ง เทพสักกะมักถูกกล่าวถึงในชื่อ "ท้าวสักกเทวราช" หรืออาจเรียกเพียงย่อว่า "ท้าวสักกะ"
ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก ท้าวสักกะเป็นที่รู้จักในนาม "ตี้ซื่อเทียน" (帝釋天) หรือ "ซื่อถีหฺวันอิน" (釋提桓因) ในภาษาจีน และ "ไทชะกุเท็น" (帝釈天) ในภาษาญี่ปุ่น สำหรับในประเทศจีนแล้ว บางครั้งมีการเปรียบเทียบว่าท้าวสักกะคือเง็กเซียนฮ่องเต้ (玉皇大帝) หรือจักรพรรดิหยกในลัทธิเต๋า ด้วยถือว่าเทพทั้งสององค์นี้มีวันประสูติเป็นวันเดียวกัน คือ ในวันที่ 9 เดือนที่ 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (โดยปกติจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ตามปฏิทินสุริยคติ)
ในฤคเวท อันเป็นวรรณคดีภาษาสันสกฤตในศาสนาฮินดู คำว่า "ศักระ" อันเป็นนามของท้าวสักกะในภาษาสันสกฤต ถูกใช้เป็นนามแทนตัวเทพอินทระหรือพระอินทร์อยู่บ่อยครั้ง แต่ในศาสนาพุทธ ตำนานและบุคลิกลักษณะของท้าวสักกะแตกต่างไปจากพระอินทร์ในพระเวทอย่างสิ้นเชิง"
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่สถิตของท้าวสักกะตั้งอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งตามคติเรื่องไตรภูมิ ถือว่าภูเขาแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของโลก อันมีพระอาทิตย์และพระจันทร์เวียนโคจรโดยรอบ สวรรค์ชั้นนี้นับเป็นสวรรค์ชั้นที่สูงที่สุดที่เชื่อมต่อกับมนุสสภูมิ (โลกมนุษย์) โดยตรง ท้าวสักกะมีชีวิตที่ยาวนานเช่นเดียวกับเทพทั้งหลาย หากแต่ก็มีวาระที่จะหมดอายุขัยตามแรงบุญของตนเองเช่นกัน ในยามที่ท้าวสักกะจะต้องจุติ (ตาย) เมื่อจิตดับไปแล้ว จะบังเกิดท้าวสักกะองค์ใหม่ (ซึ่งอาจเป็นเทพองค์อื่น) ขึ้นแทนที่ท้าวสักกะองค์เดิมทันที เรื่องราวของท้าวสักกะในทางพระพุทธศาสนาทั้งไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบัน (ในช่วงที่บันทึกพระไตรปิฎก) ปรากฏอยู่ในชาดกและพระสูตรต่างๆ ซึ่งโดยมากจะอยู่ในหมวดสังยุตตนิกาย
ชื่อของท้าวสักกะถูกกล่าวถึงในพระสูตรหลายตอน และมักปรากฏบทบาทเป็นผู้กราบทูลของคำปรึกษาจากพระโคดมพุทธเจ้าในปัญหาธรรมต่างๆ ถือกันว่าพระองค์เป็นธรรมบาล (ผู้คุ้มครองธรรม) ในพุทธศาสนาร่วมกับเหล่าพรหมทั้งหลาย