พระบรมสารีริกธาตุ
(อังกฤษ: Śarīra; สันสกฤต:
शरीर) เรียกโดยย่อว่า
พระบรมธาตุ คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย (กระดูก)
ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา
ซึ่งพระองค์ได้อธิษฐานไว้ก่อนปรินิพพาน
ให้คงเหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธบริษัท
โดยพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามีสองลักษณะ
คือ พระบรมธาตุที่ไม่แตกกระจาย และที่แตกกระจาย มีขนาดเล็กสุดประมาณเมล็ดพันธ์ผักกาด
ชาวพุทธเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุแทนองค์พระบรมศาสดาที่ทรงคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา
จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่าง ๆ เช่น
การสร้างพระมหาธาตุหรือองค์พระสถูปเจดีย์ เพื่อประดิษฐานไว้สักการะ
โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้กระทำการบูชาแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่
ทั้งนี้
คำว่า "พระบรมสารีริกธาตุ" เป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกเฉพาะพระบรมธาตุ
(กระดูก) แห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเป็นของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า
"พระธาตุ" เท่านั้น
การเกิดพระบรมสารีริกธาตุ
ประวัติ
นับแต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเผยแผ่พระธรรมวินัยแก่ชาวชมพูทวีป
เป็นเวลากว่า 45
ปี ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี
และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา
จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุใกล้ 80 พรรษา
มีพระวรกายชราภาพลงเสมือนคนทั่วไป[5] และหลังจากวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารได้
3 เดือน จึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ระหว่างใต้ต้นสาละคู่ ณ
สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน 6
ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา
สถานที่ปรินิพพาน
สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์
อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ"
หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า
สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น
ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว
กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน
ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์
อันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา ในวันที่ 8
แห่งพุทธปรินิพพาน
การถวายพระเพลิง
โดยการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกล่าวว่า เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งแคว้นวัชชี
ได้กระทำขึ้นตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระจักรพรรดิราช
โดยเหล่ามัลลกษัตริย์ห่อพระสรีระด้วยผ้าผืนใหม่ แล้วซับด้วยสำลี รวมจำนวน 500 ชั้น
และห่อด้วยผ้าอัคคีโธวัน ซึ่งเป็นผ้าชนิดพิเศษซึ่งทอขึ้นด้วยใยโลหะไม่ไหม้ไฟ
และเชิญประดิษฐานบนรางเหล็ก เติมน้ำมัน ปิดด้วยรางอื่นเป็นฝา
แล้วจึงเชิญพระพุทธสรีระขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานซึ่งทำด้วยไม้หอม
เตรียมการถวายพระเพลิง
จากความในมหาปรินิพพานสูตร
พระไตรปิฎก กล่าวว่า เพลิงได้ลุกขึ้นเองจากภายใน ด้วยพระเตโชธาตุจากพระพุทธาธิษฐาน
และเมื่อพระสรีระขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกเพลิงไหม้แล้ว
สายธารทิพย์ก็ไหลมาจากอากาศ ลำต้นสาละ และจากพื้นดินโดยรอบเพื่อดับพระจิตกาธาน และเมื่อดับจิตกาธานแล้ว
สิ่งที่คงเหลืออยู่คือพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ทั้งที่คงลักษณะเดิม
(ไม่แตกกระจายไป) จำนวน 7
พระองค์ (เรียกว่า นวิปฺปกิณฺณาธาตุ) และแบบกระจัดกระจาย มีสีดอกมะลิ
สีแก้วมุกดา และสีเหมือนทองคำ ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน รวมจำนวนได้ 16 ทะนาน (เรียกว่า วิปฺปกิณฺณาธาตุ)
จากนั้น
เหล่ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราได้กระทำสัตติบัญชรในสัณฐาคาร แวดล้อมด้วยธนูปราการ
ประกอบพิธีบูชาสมโภชพระบรมสารีริกธาตุตลอดเจ็ดวันหลังจากนั้น
การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ต่อมาไม่นาน
เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตน รวมจำนวน 8 กองทัพ
มาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ
แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก
จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม
โดยมีโทณพราหมณ์เป็นผู้เจรจาและประกอบพิธีแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เป็น 8 ส่วน และพระอังคารธาตอีก 1 ส่วน คือ พระเจ้าอชาตศัตรู
กษัตริย์มคธเมืองราชคฤห์, กษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี,
กษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์, กษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ,
กษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม, พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ,
กษัตริย์มัลละเมืองปาวา, กษัตริย์มัลละเมืองกุสินารา
และกษัตริย์โมลิยะเมืองปิปผลิวัน (พระอังคารธาตุ)
ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธประสงค์ให้พระพุทธสรีระของพระองค์แตกกระจายไปจำนวนมาก
พระบรมสารีริกธาตุขนาดเล็กสุดแม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ดังปรากฏความในคัมภีร์ปฐมสมันตาปาสาทิกาว่า
“โย จ ปูเชยฺย สมฺพุทฺธํ ติฏฺนฺตํ โลกนายกํ ธาตุ สาสปมตฺตมฺปิ
นิพฺพุตสฺสาปิ ปูชเย ฯ สเม จิตฺตปฺปสาทมฺหิ สมํ ปุญฺมหคฺคตํ ตสฺมา ถูปํ กริตฺวาน
ปูเชหิ ชินธาตุโย ฯ”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานพระธาตุให้กระจายว่า
เราอยู่ได้ไม่นานก็จะปรินิพพาน ศาสนาของเรายังไม่แพร่หลายไปในที่ทั้งปวงก่อน
เพราะฉะนั้น เมื่อเราแม้ปรินิพพานแล้ว
มหาชนถือเอาพระธาตุแม้ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดทำเจดีย์ในที่อยู่ของตนๆ ปรนนิบัติ
จงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระพุทธประสงค์ดังกล่าวนี้
เพื่อให้ศาสนาของพระองค์แพร่หลายไป และผู้ที่เกิดมาภายหลัง ไม่ทันเห็นพระองค์เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่
จักได้กระทำการสักการะบูชาเพื่อเป็นกุศลแก่ตน ด้วยเหตุนี้
จึงทำให้พระบรมสารีริกธาตุแพร่หลายไปยังดินแดนต่าง ๆ
นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา
ลักษณะพระบรมสารีริกธาตุ
วรรณะ
(สี) พระบรมสารีริกธาตุตามนัยอรรถกถาพระไตรปิฎกอธิบายว่า สีแห่งพระบรมสารีริกธาตุเสมือนดอกมะลิตูม
เสมือนแก้วมุกดาที่เจียรนัยแล้ว และเสมือนจุณทองคำ ส่วนสัณฐานพระบรมสารีริกธาตุ
มี 3 สัณฐาน คือ
1.
ขนาดเล็ก มีสัณฐานประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด
2.
ขนาดเขื่อง มีสัณฐานประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง
3.
ขนาดใหญ่ มีสัณฐานประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง