ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันสร้างลานเจดีย์และองค์พญานาคทางเข้าพระเจดียศรีทศพลบรมไตรโลกนาถ ณ วัดน้ำเขียว (บุญช่วยสามัคคีธรรม) ต.กองทูล อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อถวายเป็นไตรรัตนบูชา

ประวัติของบรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร

          กล่าวย้อนไปถึงอดีตกาล พุทธศักราชผ่านพ้นไป ๓๐๓ ปี (ตามหลักฐานบันทึกในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา คำบรรยายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) อดีตภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร) และตามหลักฐานของวัดเพชรพลี (บันทึกอักษรเทวนาครี ขุดค้นพบ ณ ซากศิลา วัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี) ว่า พระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิในปีพุทธศักราช ๒๓๕ ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง ๖๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงกระทำตติยสังคายนาพระไตรปิฎก คือ การชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ครั้นแล้วจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ องค์อรหันต์เป็นประธานคัดเลือกบรรดาพระอรหันต์เถระออกทำการเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาในประเทศต่างๆ พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ในอนาคตพุทธศาสนาอาจไม่มั่นคงอยู่ในอินเดีย จึงเห็นควรส่งพระสมณทูตออกไปเผยแผในส่วนต่าง ๆ ของอินเดียและในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการส่งพระสมณทูตออกประกาศพุทธศาสนา โดยแบ่งออกเป็น ๙ สาย ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระสมณทูต ๙ สาย คือ
          สายที่ ๑ มีพระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย คือ แคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) และแคว้านคันธาระ
          สายที่ ๒ มีพระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย คือ แคว้นมหิสมณฑล (ปัจจุบัน คือ รัฐไมซอร์)
          สายที่ ๓ มีพระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งได้แก่ แคว้นวนวาสีประเทศ
          สายที่ ๔ มีพระธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาแถบชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย อันได้แก่ แคว้นอปรันตกชนบท (ปัจจุบัน คือ แถบบริเวณเหนือเมืองบอมเบย์)
          สายที่ ๕ มีพระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ อันได้แก่ แคว้นมหาราษฎร์
          สายที่ ๖ มีพระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่โยนกประเทศ (กรีซ)
          สายที่ ๗ มีพระมัชฌิมเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางดินเดียภาคเหนือ (แถมเทือกเขาหิมาลัยและประเทศเนปาล)
          สายที่ ๘ มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ (ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ไม่อาจตกลงกันได้ว่าที่ใด แต่มีความเป็นกว้าง ๆ ว่า คือดินแดนที่เป็นประเทศพม่า (เมียนมาร์) ไทย ลาว ญวน เขมร และมลายู)
          สายที่ ๙ มีพระมหินทเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป (ปัจจุบัน คือ ศรีลังกา)  
          สำหรับดินแดนในเขตสุวรรณภูมิ พระโสณเถระ เป็นสมณทูตที่เข้ามาประกาศพระศาสนาได้แสดงธรรมในพรหมชาลสูตรเป็นปฐมเทศนา และได้นำพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาพร้อมกับพระอรหันต์อีก ๔ องค์ ได้แก่ พระอุตตรเถระ พระฌานียเถระ พระภูริยเถระ และพระมุนียเถระ มีสามเณร อุบาสกอุบาสิการ่วมคณะ จำนวน ๓๘ คน ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าสุวรรณภูมิราชาหรือพระเจ้าโลกละว้า ที่เมืองคูบัว ราชบุรี เมื่อเดือนกัตติกมาส หรือเดือน ๑๒ พุทธศก ๒๓๕ (ก่อน ค.ศ. ๓๐๘)
         การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดำเ นินจนมาถึง พ.ศ. ๒๖๔ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๙) พระโสณเถระจึงได้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรก ณ เมืองเถือมทอง อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ให้พระภูริยเถระเป็นผู้ทำนิมิตพัทธสีมา ในปีพฬศ. ๒๖๕ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๘) และได้สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงบาตรคว่ำเหมือนพระ สถูปที่เมืองสาญจีในประเทศอินเดีย มีชื่อว่า "วัดพุทธบรมธาตุ" จนพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของไทยในปัจจุบัน

 
          คณะหลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดร (คณะพระโสณะและพระอุตตระ)

                ๑. หลวงปู่พระอุตตรเถระเจ้า

                ๒. หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า

                ๓. หลวงปู่พระมูนียเถระเจ้า

                ๔. หลวงปู่พระฌาณียเถระเจ้า

                ๕. หลวงปู่พระภูริยเถระเจ้า
        
          ในคำจารึกอักขรเทวนาครี ฉบับวัดเพชรพลี ปรากฏข้อความที่พิศดารยิ่งขึ้น โดยกล่าวถึงคณะพระธรรมฑูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยทางเรือประกอบ ด้วย พระโสณะ พระอุตตระ พระมูนิยะ พระฌานียะ พระภูริยะ สามเณรอิสิจน์ สามเณรคุณะ พระสามเณรนิตตย เขมกะอุบาสก อนีฆาอุบาสิกา อดุลยอำมาตย์และคุณหญิงอดุลยา พราหมณ์และนางพราหมณี ผู้คนอีก ๓๘ คน ได้มาพักที่วัดช้างค่อม (นครศรีธรรมราช) เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๒๓๕ ออกบิณฑบาต วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วเทศนาพรหมชาลสูตรและได้วางวิธีอุปสมบทญัตติจตุตถกรรมวาจา โดยใช้อุทกเขปเสมาหรือเสมาน้ำและได้วางเพศชีไทยโดยถือแบบเหล่าพระสากิยานี ซึ่งเป็นต้นของพระภิกษุณีโดยบวชหรือบรรพชาไม่มีเรือน ออกจากเรือน (อาคารสมา อนาคาริยปพพชชา) ได้วางวิธีสวดปาติโมกข์หรืออุโบสถกรรม ปวารณากรรม
          เมื่อพระเจ้าโลกละว้าราชา (เจ้าผู้ครองแคว้นสุวรรณภูมิ) รับสั่งให้ มนต์ขอมพิสนุ ขอมเฉย ขอมสอน ขอมเมือง สร้างวัดมหาธาตุ ท่านได้วางวิธีกำหนดนิมิตผูกขันธ์สีมา พ.ศ. 238 เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่านได้สอนพระบวชใหม่ให้ท่องพระปาฏิโมกข์จบหลายองค์ แล้วจึงวางวิธีสวดสาธยายโดยฝึกซ้อมให้คล่อง เมื่อคล่องแล้วจึงจะสัชณายกันจริงๆ ท่านให้มนต์ขอมปั้นพระพุทธรูปด้วยปูนขาวเป็นพระประธานในโรงพิธี เมื่อเรียบร้อยแล้วท่านวางวิธีกราบสวดมนต์ไหว้พระ เห็นดีแล้วจึงให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา ท่านได้วางวิธีกฐินและธุดงค์ไปในเมืองต่างๆ คือ การเที่ยวจาริก

           การสร้างพระพุทธรูปในสมัยดังกล่าวนี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ มีพระพุทธรูปเป็นองค์สมมุติ พระสงฆ์ก็เป็นเพียงสมมุติสงฆ์ ส่วนพระธรรมนั้นเป็นเพียงเสียงสวด ท่านจึงใช้วงล้อเกวียนประดิษฐ์เป็นธรรมจักรแทนพระธรรม กับมี มิค (มิ–คะ) คือสัตว์ประเภท กวาง ฟาน หรือเก้ง เป็นเครื่องหมาย ในสมัยสุวรรณภูมิ

          พระพุทธรูปที่มีกวางกับธรรมจักรกลับไม่มี การสร้างหรือออกแบบในสมัยนั้น มีอยู่สี่ลักษณะด้วยกันคือ (ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน) มีอักษรเทวนาครีจารึกระบุพระนามว่า โลกกน แบบประภามณฑลมี ๓ วงซึ่งเป็นเครื่องหมายพระนามว่า “โลก” คือ วัฏฏ ๓ แบบโปรดสหาย พระยศ ส่วนปางมารวิชัยและปางสมาธิมีทุกสมัย

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙ พระโสณะกับพระเจ้าโลกละว้าราชา ได้ส่งพระภิกษุไทย ๑๐ รูป มีพระญาณจรณะ (ทองดี) เป็นหัวหน้า ๓ รูป อุบาสก อุบาสิกา ไปเรียนและศึกษา ณ กรุงปาตลีบุตรแคว้นมคธ นับเป็นเวลา ๕ ปี พระญาณจรณะ (ทองดี) ท่านนี้ปรากฏหลักฐานเพียงรูปของพระพิมพ์ มีลักษณะอวบอ้วนคล้ายพระมหากัจจายนเถระเจ้า ด้านหลังมีรูปพระ ๙ องค์เป็นอนุจร หรือบวชทีหลัง คนชั้นหลังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นองค์เดียวกับพระมหากัจจายนเถระเจ้า และเรียกเพี้ยนเป็นพระสังขจาย เรียกกันมานานนับพันๆ ปี ศัพท์สังขจายไม่มีคำนิยามในพจนานุกรม พุทธสาวกทุกพระองค์จะมีนามเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น ไม่มีนามเป็นภาษาไทย พระญานจรณะ (ทองดี) บรรลุอรหันต์และจบกิจนานนับพันปีแล้ว ปัญหาเช่นดังกล่าวนี้หากนำพระปิดตาขึ้นมาพิจารณาก็ยากที่จะตัดสินว่าเป็น พุทธสาวกองค์ใดกันแน่ อาจจะเป็นพระมหากัจจายนเถระเจ้า ปางเนรมิตวรกายก็ได้ อาจจะเป็นพระควัมปติเถระ ก็ได้ เป็นพุทธสาวกทรงเอตทัคคะด้วยกัน แต่เป็นคนละองค์ คำว่า พระควัมบดี ไม่มี)

          ลุปี พ.ศ. ๒๔๕ พระเจ้าโลกละว้าราชาสิ้นพระชนม์ ตะวันทับฟ้าราชบุตรขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามว่า ตะวันอธิราชเจ้า ถึงปี พ.ศ. ๒๖๔ พระโสณเถระใกล้นิพพาน พระโสณเถระอยู่ ณ แดนสุวรรณภูมิ วางรากฐานธรรมวินัยในพระบวรพุทธศาสนา เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี และท่านนิพพานในปีนั้น หลักฐานต่างๆ ตามที่กล่าวจารึกด้วยอักษรเทวนาครี ขุดพบที่โคกประดับอิฐ ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี พบรูปปั้นลอย องค์ลักษณะนั่ง ลักษณะนั่งห้อยเท้า มีลีลาแบบปฐมเทศนา มีเศียรโล้น ด้านหนึ่งจารึกว่า โสณเถระ ด้านล่าง อุตตรเถระ ด้านล่างสุด สุวรรณภูมิ มีอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ ผู้ค้นพบทุบเล่น ๓ องค์ เหลือเพียง ๒ องค์ ตกเป็นสมบัติของวัดเพชรพลี ส่วนครบชุด ๕ องค์ คือ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ พระมูนียเถระ พระฌานียเถระ และพระภูริยเถระ ในท่านั่งแสดงธรรม สมัยต่อมาในรัชกาลที่ ๔-๕ มีการสร้างแบบพระสมเด็จขึ้น แล้วเห็นเป็นพระสมเด็จผิดพิมพ์อีกด้วย จึงเป็นการสับสนสำหรับผู้ที่ไม่รู้จริง

          จะเห็นได้ว่าตามหลักฐานบันทึก กล่าวเพียงพระโสณเถระ ไม่ได้กล่าวถึงพระอุตตรเถระ (อุตร ก็คือ อุดร) เป็นปัญหาว่า หลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดรเป็นองค์ใดกันแน่ เพราะในสมัยปัจจุบันกล่าวถึงบรมครูพระเทพโลกอุดร ไม่มีใครรู้จักพระโสณะเถระ ข้อเท็จจริง ท่านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิต องค์พี่คือพระอุตตระ มีร่างกายสันทัด องค์น้องคือพระโสณะ มีร่างกายสูงใหญ่ มีฉายาว่าขรัวตีนโต ถ้านำพระธาตุมาตรวจนิมิตจะบอกว่า โสณ-อุตตร ไม่แยกจากกัน องค์น้องบรรลุอรหันต์ก่อนองค์พี่ แต่มีความเคารพองค์พี่มากต้องกราบองค์พี่ แต่เหตุที่บรรลุก่อนพี่ชายจึงเรียกว่า โสณ-อุตตร ไม่เรียกว่า อุตตร-โสณ ฉะนั้น หลวงปู่ใหญ่ก็คือ พระอุตตระ นั่นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี กล่าวพระนามขององค์ท่านว่า พระโสอุดรพระโลกอุดร
 

บุคลิกภาพและจริตแห่งพระเทพโลกอุดร

          องค์ที่หนึ่ง พระอุตตรเถระ หรือหลวงปู่ใหญ่ คือหลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดร ลักษณะรูปร่างสันทัด ผิวกายค่อนข้างดำคล้ำ จึงมีฉายาว่า “หลวงพ่อดำ” มีจิตเยี่ยงพระโพธิสัตว์เจ้า บรรลุอภิญญาหก แต่ในบทสวดกล่าวว่าเตวิชโชคือวิชชาสาม ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับปฏิสัมภิทาญาณ แต่ในบทสวดก็กล่าวว่าท่านบรรลุซึ่งปฏิสัมภิทาญานเช่นกัน ท่านได้วางหลักสูตรในการฝึกสมาธิซึ่งเรียกว่า “วิทยาศาสตร์ทางใจ” มิใช่วิชาไสยศาสตร ์และมิใช่มายากล ศิษย์ในดงนอกดงสามารถแปรธาตุได้ เช่น หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, ท่านอภิชิโต ภิกขุ, อาจารย์พัว แก้วพลอย, อาจารย์ฉลอง เมืองแก้ว และหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เป็นต้น

          ท่านเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์และเภสัชกรรม ใจดีประกอบด้วยเมตตา มีอารมณ์ขัน หากจะกล่าวถึงหัวหน้าคณะพระธรรมฑูตซึ่งเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายัง สุวรรณภูมิแหลมทอง คงได้แก่ พระโสณเถระ ซึ่งท่านเป็นน้องชายพระอุตตรเถระ แต่บรรลุอรหันต์ก่อนพี่ชาย บทบาทของพระอุตตรเถระจึงไม่ค่อยมีปรากฏ และพระโสณเถระก็บรรลุปฏิสัมภิทาญาณเช่นกัน มิฉะนั้นจะสอนพระศาสนาแก่คนต่างชาติได้อย่างไร ปฏิสัมภิทาญาณสี่ มีดังนี้

               ๑. อัตถปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในอรรถ เข้าใจถืออธิบายอรรถแห่งภาษิตให้พิศดาร และเข้าใจคาดคะเนล่วงหน้าถึงผลอันจักมีเข้าใจผล

               ๒. ธรรมปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในธรรม เข้าใจถือเอาใจความแห่งอธิบายนั้นๆ ตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อขึ้นได้ สาวเหตุในหนหลังให้เข้าใจเหตุ

               ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉานในภาษาและรู้จักใช้ถ้อยคำ ตลอดจนรู้ถึงภาษาต่างประเทศ

               ๔. ปฏิภาณสัมภิทา คือ ความแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบ เข้าใจทำให้สบเหมาะในทันทีหรือในเมื่อเหตุเกิดขึ้นโดยฉุกเฉินหรือกล่าวตอบ โต้ได้ทันท่วงที
          ท่านมีสภาวะจิตที่รวดเร็วมากเพียงนึกถึงท่าน ท่านจะบอกให้นิมิต “เมื่อเจ้าต้องการพบเรา เราก็มา เรามาจากทางไกล” ด้วยความรวดเร็วยิ่งในการตรวจพิมพ์ของท่าน ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าท่านเป็นบรมครูพระเทพโลกอุดร ท่านอภิชิโต ภิกขุ มอบให้เป็นสมบัติ บอกว่าอาจารย์ท่านคือหลวงปู่ดำเสกให้ เคยทดลองให้ท่านอาจารย์วิเชียร คำไสสว่าง ชีปะขาวผู้ทรงคุณกำหนดจิตดูท่านอาจารย์บอกว่าพระนี้ว่องไวและรวดเร็วยิ่ง

          องค์ที่สอง พระโสณเถระ หรือหลวงปู่ขรัวตีนโต รูปกายสูงใหญ่ ผิวดำ ทรงคุณสมบัติเช่นองค์ที่หนึ่ง เว้นแต่วิชาแพทย์ ใจดี เยือกเย็นประกอบด้วยเมตตาธรรม ชอบผาดโผน เหินฟ้านภาลัยโขดเขินเนินไศลเป็นที่สัญจร

          องค์ที่สาม พระมูนียะ หรือพระอิเกสาโร หลวงปู่โพรงโพธิ์ หลวงปู่เดินหน ล้วนเป็นองค์เดียวกัน มีบุคลิกภาพอันสง่างามปรากฏตามภาพซึ่งใช้บูชากันอยู่ในปัจจุบัน เชี่ยวชาญในวิชาแปรธาตุ เป็นผู้คงแก่เรียน ชอบเจริญอสุภกรรมฐาน 10 มักสร้างรูปบูชาเป็นโครงกระดูก พูดน้อยค่อนข้างเคร่งขรึมคล้ายดุ แต่ก็ไม่ดุ เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ห่มจีวรสีหมองคล้ำ หากปรากฏภาพในนิมิตมักจะปรากฏเส้นเกสายาวจรดเอวทีเดียวแสดงว่า “อิเกสาโร” (เกสา แปลว่า เส้นผม) ท่านมีบทบาทไม่น้อย ตามความรู้สึกน่าจะมีบทบาทมากกว่าองค์อื่นๆ ด้วยซ้ำไป

          องค์ที่สี่ พระณานียะ หรือหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จังหวัดนครปฐม ท่านมีรูปกายค่อนข้างสูงใหญ่ ขนตาดกยาวแปลกกว่าองค์อื่น มีอำนาจ แต่ขี้เล่นใจดี นิมิตไม่แน่นอนอาจเป็นรูปพระภิกษุ ท่านจะชื่ออะไรไม่ทราบแต่แปรธาตุเสกใบมะม่วงเป็นกบนำมาพร่า ยำ เลี้ยงสานุศิษย์ เลยเรียกกันว่าหลวงพ่อกบ ท่านมาสร้างบารมีต่อ ปริศนาธรรมคือขรัวขี้เถ้าเผาแหลกมีอะไรเผาหมด แบบเถ้าสู่เถ้า ผงคลีสู่ผงคลี ดินจะใหญ่สักปานใดมันก็ไม่พ้นจากความเป็นขี้เถ้าหรอก ในที่สุดท่านก็มรณภาพและสานุศิษย์นำใส่โลงศพรอวันเผา หลวงปู่เกิดหายไปไร้ร่องรอย เลยไม่มีการฌาปนกิจศพ

          องค์ที่ห้า พระภูริยะ หรือหลวงปู่หน้าปาน บางคนก็เรียกท่านว่า หลวงปู่แก้มแดง เคยเรียนถามท่านอภิชิโต ภิกษุ ท่านบอกว่าขรัวหน้าปานองค์นี้สำเร็จปรอท ล่องหนย่นระยะทางเก่ง ถ้าท่านเอาลูกปรอทมาอมทางแก้มซ้าย ทางด้านซ้ายจะแดง ถ้าเปลี่ยนเป็นอมทางแก้มขวา ทางด้านขวาจะแดง จึงเกิดถกเถียงกันไม่รู้จบ ท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่ขรัวขี้เถ้า มาสร้างเสริมบารมีในระยะเวลาเดียวกัน โดยอาศัยร่างท่านพระมหาชวนหรือหลวงพ่อโอภาสี แห่งอาศรมบางมด ท่านเป็นพระภิกษุทรงศีล เมื่อมีผู้ซักถาม ท่านก็บอกตามตรงว่าพระมหาชวนได้ตายไปแล้ว อาตมาเป็นพระสำเร็จมาอาศัยร่างสร้างบารมีต่อ